ม.ทักษิณ เปิดรับ ปริญญาโท-เอก  สาขาเกษตรศาสตร์สมัยใหม่ มุ่งผลิตบุคลากรเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเกษตร

ม.ทักษิณ เปิดรับ ปริญญาโท-เอก สาขาเกษตรศาสตร์สมัยใหม่ มุ่งผลิตบุคลากรเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมเกษตร

31 ม.ค. 68 235

คณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เปิดรับสมัครนิสิตระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาเกษตรศาสตร์สมัยใหม่ ประจำปีการศึกษา 2568 เพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการเกษตร รองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรกรรมสู่ยุคดิจิทัลและยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการทางเกษตรสมัยใหม่และเพิ่มขีดความสามารถการเป็นผู้ประกอบการ พร้อมรองรับงานด้านอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเปิดการเรียนการสอนที่วิทยาเขตพัทลุง

ผู้ช่วยศาสตราศาสตร์ ดร.อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว คณบดีคณะเทคโนโลยีและการพัฒนาชุมชน เปิดเผยว่า การพัฒนาหลักสูตรนี้มุ่งผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถในการพัฒนาประเทศด้านการเกษตร เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่งคั่ง พร้อมสร้างความเข้มแข็งด้านวิชาการด้านการเกษตรที่กำลังเผชิญกับประเด็น ท้าทาย และเพิ่มขีดความสามารถการเป็นผู้ประกอบการ โดยเน้นการจัดการระบบการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

ด้าน ผู้ช่วยศาสตราศาสตร์ ดร.ปริศนา วงค์ล้อม อาจารย์ผู้รับผิดชอบสาขาเกษตรศาสตร์สมัยใหม่ กล่าวว่า หลักสูตรมุ่งเน้นการพัฒนาผู้เรียนให้มีความพร้อมรองรับงานด้านอุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ ครอบคลุมทั้งธุรกิจเทคโนโลยีการเกษตร ระบบการผลิตอัตโนมัติ การปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ การเพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ และการผลิตสินค้าเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง นอกจากนี้ยังเน้นพัฒนาทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัว การทำงานร่วมกับผู้อื่น และการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทั้งนี้เพราะอนาคตของภาคเกษตรมีความสำคัญมากสำหรับประเทศไทยท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของ การเปิดหลักสูตรเกษตรศาสตร์สมัยใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณจึงหวังพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมการเกษตร เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรกรรมสู่ยุคดิจิทัลและยั่งยืน สอดรับกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) ที่มุ่งพลิกโฉมประเทศไทยสู่ "สังคมก้าวหน้า เศรษฐกิจสร้างมูลค่า อย่างยั่งยืน" โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างภาคการผลิตและบริการสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม

  

“นอกจากนี้  หลักสูตรเกษตรศาสตร์สมัยใหม่ มหาวิทยาลัยทักษิณ ยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ในประเด็นการส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ การสร้างโอกาสทางการศึกษา การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน รวมถึงการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย”  ผู้ช่วยศาสตราศาสตร์ ดร.อุไรวรรณ ทองแกมแก้ว กล่าว

สำหรับค่าธรรมเนียมการศึกษา ระดับปริญญาเอก ภาคเรียนละ 28,000 บาท ภาคฤดูร้อน 18,000 บาท ส่วนระดับปริญญาโท ภาคเรียนละ 23,000 บาท ภาคฤดูร้อน 15,000 บาท
ผู้สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ ผศ.ดร.ปริศนา วงค์ล้อม โทร. 074-609600 ต่อ 3101-3107 หรือเว็บไซต์ tcd@tsu.ac.th

.....................
เรียบเรียง : งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัยทักษิณ