รู้ไว้ได้ใช้แน่ เสริมเกราะรับมือ 10 กลโกง อุบายลวง ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

รู้ไว้ได้ใช้แน่ เสริมเกราะรับมือ 10 กลโกง อุบายลวง ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์

17 ก.พ. 68 237

     บุกค้นก็แล้ว!? ตัดไฟก็แล้ว!? ถอนรากซิมผีก็แล้ว!? แต่ภัยคุกคามจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังคงระบาดหนักในสังคมไทย สร้างความเดือดร้อนและการสูญเสียทรัพย์สินให้กับประชาชนจำนวนมาก และแค่ระยะเวลา 2 เดือน นับตั้งแต่เปิดฤกษ์ศักราช 2568 กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) ได้เปิดตัวเลขการแจ้งความออนไลน์ คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สถิติความเสียหายตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 16 ก.พ.2568 มีคดีออนไลน์ 45,926 เรื่อง มูลค่าความเสียหายรวม 3,641,655,075 บาท โดยในช่วงก่อนหน้านี้ศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ทำการสรุปสถิติการแจ้งความออนไลน์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 - 31 ธ.ค.2567 มีคดีออนไลน์ 773,118 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหาย 79,569,412,608 บาท ตัวเลขหล่านี้สะท้อนให้เราเห็นถึงความรุนแรงและแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นของคดีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบจากความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจของประเทศ

    

สถิติความเสียหายสะสม ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 ถึง วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2568

     แม้จะมีมาตรการจัดการปัญหาองค์กรมิจฉาชีพเหล่านี้ จากหลายภาคส่วนทั้งใน เชิงรุก-เชิงรับ เช่นที่มีการสั่งตัดไฟฟ้า และอินเตอร์เน็ตที่ส่งไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งเป็นแหล่งกบดาน/ทำงานของเหล่าแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา แต่ด้วยข้อมูลจากหลายแหล่งชี้ว่า องค์กรเหล่านี้มีทางเลือกในการหาแหล่งพลังงานสำรอง เช่น เครื่องปั่นไฟ หรือการดึงไฟจากเครือข่ายพลังงานของประเทศที่ตั้งฐาน ที่จะทำให้การดำเนินงานในการสร้างความเสียหายยังคงมูฟออนต่อไป...

     เพื่อไม่ให้คุณผู้อ่านของเราตกเป็นเหยื่อ ผมจึงอยากชวนมาเสริมเกราะรับมือภัยร้าย เพื่อป้องกันตนเองและคนใกล้ชิดจากกลโกงเหล่านี้ เราอยากพาคุณมาเรียนรู้และเสริมเกราะให้กับตนเองไปกับ ด้วยการตีแผ่ 10 กลโกง อุบายลวง ของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่มักใช้ล่อลวงเรา จะเป็นแบบไหน หรือจะคล้ายกับที่ผู้อ่านได้เคยสัมผัสมาบ้างมั้ยนั้นเราไปหาคำตอบด้วยกันครับ

แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ

- อ้างตัวเป็นตำรวจ ศาล ป.ป.ส. หรือกรมสรรพากร

- หลอกว่ามีคดีความ บัญชีพัวพันค้ายา หรือเลี่ยงภาษี

- ใช้เสียงเข้มขู่ให้เหยื่อรีบโอนเงิน

- อาจใช้ Deepfake ทำให้เหมือนวิดีโอคอลกับตำรวจจริง

หลอกให้ลงทุนในแอปปลอม

- อ้างว่าเป็นคริปโตหรือเทรดหุ้นกำไรสูง

- ตอนแรกให้ถอนเงินได้จริง แต่สุดท้ายปิดระบบหนี

หลอกว่าเป็นบริษัทขนส่ง/ไปรษณีย์

- แจ้งว่ามีพัสดุต้องสงสัยเป็นของผิดกฎหมาย

- ให้เหยื่อกดลิงก์หรือแจ้งข้อมูลส่วนตัว

- ให้โอนเงินเพื่อชำระค่าพัสดุ โดยที่เราไม่ได้สั่ง

โทรแจ้งว่าถูกรางวัลใหญ่

- แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือในการรับเงินรางวัลได้

- หลอกให้เหยื่อโอนค่าธรรมเนียมหรือภาษี

- เมื่อจ่ายเงินแล้วจะถูกตัดการติดต่อ

แอบอ้างเป็นธนาคาร/สถาบันการเงิน

- แจ้งว่ามีรายการใช้จ่ายผิดปกติในบัตรเครดิต

- ขอ OTP อ้างว่าเพื่อยกเลิกรายการ แต่จริง ๆ คือการโอนเงินออกจากบัญชีเหยื่อ

ใช้ Social Engineering (หลอกล่อให้หลงเชื่อ)

- ทำเป็นโทรผิดแล้วตีสนิท ให้เราเชื่อใจ

- แอบอ้างว่าเป็นญาติ หรือเพื่อน ที่ต้องการความช่วยเหลือด่วน

ปลอมเป็นบริษัทสินเชื่อ/เงินกู้ด่วน

- เสนอให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ อนุมัติไว

- หลอกให้โอนค่ามัดจำหรือค่าธรรมเนียมก่อน

- หลังจากโอนเงินแล้วก็ติดต่อไม่ได้

ปลอมเป็นแพลตฟอร์มซื้อของออนไลน์

- หลอกขายของราคาถูกเกินจริง

- พอเหยื่อโอนเงินแล้วจะปิดเพจหรือตัดการติดต่อ

ใช้แอปปลอมให้เหยื่อกดลิงก์ติดตั้งมัลแวร์

- ส่ง SMS หรือข้อความให้โหลดแอปปลอม

- แอปอาจดูเหมือนแอปธนาคาร แต่จริง ๆ ขโมยข้อมูลบัญชีการเงินของุคณ

ปลอมเป็นหน่วยงานช่วยแก้ปัญหาถูกโกง

- เสนอช่วยตามเงินคืนจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์

- แต่กลับหลอกให้เหยื่อโอนเงินเพิ่มเพื่อ “ค่าดำเนินการ”

 

อ้างอิง : 

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (thaipoliceonline.com)

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สตางค์ Story - ภัยทางการเงิน

Thai PBS : พิษอาชญากรรมออนไลน์ปี 68 เกือบ 2 เดือนสูญ 3.4 พันล้าน

เรียบเรียง :

งานสื่อสารองค์กร สำนักงานมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ